ส่องทิศทาง “แบตเตอรี่ EV”
8 พ.ย. 2564
ทุกวันนี้ คำว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” หรือ EV ดูเหมือนจะเป็นคำฮิตติดปากคนในวงการยานยนต์ไปแล้ว เพราะเป็นยนตรกรรมที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคต โดยบริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ McKinsey & Company ประเมินว่า ส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าราว 30-35% ในตลาดสำคัญ เช่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และมีสัดส่วนประมาณ 20-25% ทั่วโลก ภายในปี 2573 ประเทศไทยเองก็ไม่ตกเทรนด์ เพราะใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่รายงานในการประชุมของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ปักหมุดหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลก โดยจะสร้างความต้องการในการใช้ EV ให้สัดส่วนการใช้คิดเป็น 26% ภายในปี 2570 ซึ่งปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะทำให้การสร้างอุปสงค์นี้เกิดขึ้นได้ และทำให้รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสีเขียวนี้ ได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวางนั่นคือประสิทธิภาพของ “แบตเตอรี่”
“แบตเตอรี่” จะเรียกว่าเป็นอุปสรรค ความท้าทาย หรือจุดอ่อนของรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้เช่นกัน เพราะแม้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ จะพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้ในระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ต่อการชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มในแต่ละครั้ง แต่การขับรถยนต์ไฟฟ้าในระยะทางไกลๆ หรือต้องเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่มีสถานีชาร์จก็ยังสร้างความกังวลใจให้ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ดี แม้โดยเฉลี่ยแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่จะขับรถในระยะทางที่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อวันก็ตาม แต่ถ้าหากต้องเดินทางหลายร้อยกิโลเมตร ก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ นั่นหมายความว่าหากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะรุดหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ ตลอดจนระบบนิเวศต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ก็ต้องพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันด้วย
บางประเทศอย่างอังกฤษก็ได้ตรียมออกกฎหมายให้บรรดา “อาคาร-บ้าน” ที่สร้างใหม่ทุกแห่ง ต้องมีที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง จากปัจจุบันมีสถานีชาร์จ 25,600 แห่งทั่วประเทศ แต่การที่จะยกระดับให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย ต้องมีจุดชาร์จเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าให้ได้ภายในปี 2573 จึงจะเพียงพอกับความต้องการในการใช้งาน นี่ก็เป็นเรื่องที่สำคัญในประเทศไทย ที่ปักหมุดไว้ว่าต้องการเป็นประเทศที่เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ แถมยังเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยกำลังพิจารณาเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างเครือข่ายให้หัวชาร์จไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อสามารถสื่อสารหรือใช้งานข้ามโครงข่ายระหว่างกันได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพากลยุทธ์การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า มีความคุ้มค่ามากกว่าการใช้รถยนต์เชื้อเพลิงแบบเดิมๆ อย่างไร
สาระสำคัญส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยจาก (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นระบุว่า จะจัดตั้งกิจการค้าร่วมด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตแบตเตอรี่ ระบบเซนเซอร์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบสื่อสารในยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ และคำนึงถึงวงจรชีวิตทั้งหมดของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ ให้แก่ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2570 จะมีมูลค่าส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรวมไม่น้อยกว่า 130,000 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานของยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 14 ราย จำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ/หัวจ่ายชาร์จเร็ว เพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย และเกิดการลงทุนเทคโนโลยีสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
ไม่เพียงแต่รถยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้โดยสารทั่วไปเท่านั้นที่เป็นเทรนด์ร้อนแรงในขณะนี้ แต่การเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก น่ายินดีที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 กลุ่มบริษัทสามมิตรได้รับอนุมัติจากบีโอไอ ในวงเงินลงทุน 5,500 ล้านบาท สำหรับกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery electric vehicle: BEV) ซึ่งใช้พลังงานเคมีที่เก็บไว้ในชุดแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟได้โดยไม่มีแหล่งที่มาของแรงขับสำรอง โดยตั้งเป้าผลิตปีละประมาณ 30,000 คัน ด้วยการใช้วัตถุดิบในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 8,500 ล้านบาทต่อปี เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เบื้องต้นจะประเดิมทำตลาดด้วยรถบรรทุก 6 ล้อ แบบตู้แห้ง-ตู้เย็น ใช้แบตลิเธียมไอออน 200 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิ่งได้ 300 กิโลเมตร ทั้่งยังสามารถปรับรูปแบบการใช้งานให้หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละอุตสาหกรรมได้ โดยพร้อมทำตลาดภายใน 5 ปี และจากความเคลื่อนไหวนี้จะเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มุ่งเจาะตลาดผู้บริโภคทั่วไปเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกต์ด้วย ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนี่งที่ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ Net Zero ได้สำเร็จ
ความต้องการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเมื่อปี 2563 มีความต้องการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกอยู่ที่ 110 กิกะวัตต์ชั่วโมง ซึ่งกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 600 เท่าในอีก 30 ปีข้างหน้าเป็น 6,530 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2593 โดยตอนนี้จีนกำลังเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งนั่นก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะโรงงานแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในจีน ทำให้สัดส่วนการผลิตในจีนสูงถึง 77% แม้ว่ายุโรปกำลังวางแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนมากขึ้น แต่จีนจะยังคงครองการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนทั่วโลกอยู่ดี โดยคาดว่าภายในปี 2568 จีนจะผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประมาณ 65% ของโลก ในขณะที่การผลิตในยุโรปคาดว่าจะมีสัดส่วนประมาณ 25%
สำหรับในไทยเองก็มีผู้เล่นรายสำคัญอยู่ เช่น บ้านปู ที่ได้ลงทุนผลิตแบตเตอรี่ EV โดยร่วมลงทุนในบริษัทดูราเพาเวอร์ โฮลดิ้งส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเธียมไอออน (LiB) สำหรับรถยนต์และระบบไฟฟ้าสำรองต่างๆ, GPSC ในเครือ ปตท. ที่ลงทุนโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell เพื่อเน้นการผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ LFP เพื่อใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่, บางจาก ที่แสวงหาพันธมิตรยุโรปเพื่อลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และ อมิตา เทคโนโลยี ที่ร่วมกับกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) รวมถึงเบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มหลังนี้จะลงทุนผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
แบตเตอรี่ EV นับเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และยังมีอีกหลายประเด็นให้ทำการบ้าน เช่น ประเด็นที่มีการพูดถึงกันบ่อยมากขึ้นในขณะนี้ เมื่อพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้การรักษ์โลกเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ใช่แค่พลังงานสะอาดเท่านั้นก็คือ ประสิทธิภาพในการนำแบตเตอรี่ไปรีไซเคิล เพราะซากแบตเตอรี่มือถือถูกจัดอยู่ในกลุ่มของเสียประเภทซากของเสียอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถือเป็นของเสียอันตราย โดยรายงานของ IMP Process Metallurgy and Metal Recycling, RWTH Aachen, เยอรมนี ระบุว่า ในปี 2565 แบตเตอรี่เหล่านี้กว่าครึ่งล้านยูนิตจะหมดอายุการใช้งานลง ทําให้มูลค่าทางการตลาดอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเตอรี่เหล่านี้กลับมาใช้ผลิตเป็นแบตเตอรี่ใหม่มีมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
EV มีเรื่องให้ต้องติดตามต่ออย่างใกล้ชิด หากคุณผู้อ่านต้องการติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับ EV และประเด็นน่าสนใจอื่นๆ ในโลกอุตสาหกรรม ต้องไม่พลาด ME Blogs ในครั้งต่อไปครับ