Manufacturing Expo Logo
21 - 24 มิถุนายน 2566

    

สารพัดปัจจัยบวก หนุน "อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์" ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

02 August 2022

ข้อมูลเมื่อปี 2561 อาจระบุว่า  "อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์" ซึ่งครอบคลุมทั้งเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์  จะมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 % ของจีดีพีประเทศไทย  แต่อุตสาหกรรมนี้กลับเป็นดาวรุ่ง เพราะมีทิศทางเติบโตสดใส สอดคล้องกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่แม้ผู้คนจะมีอายุยืนยาวมากขึ้นแต่ก็ต้องการดูแลสุขภาพ และรับการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง กอปรกับการได้รับการโปรโมทให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะครบ 2 ปีอยู่รอมร่อ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยบวกที่หนุนให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เติบโตแบบไม่ฉุดอยู่

วิจัยกรุงศรี ซึ่งจัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย ได้ระบุว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ส่งออกและนำเข้าเครื่องมือแพทย์ลำดับที่ 17 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยข้อมูลปี 2562 เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตและการจำหน่ายในประเทศไทยพบว่า การผลิตยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น 1.4% จากปี 2561 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับค่อนข้างสูง เฉลี่ยอยู่ที่ 73.4%  สำหรับมูลค่าตลาดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย พิจารณาเฉพาะยอดจำหน่ายในประเทศและมูลค่าส่งออกพบว่ามีมูลค่ารวมกัน 60,600 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดจำหน่ายในประเทศ 50,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 82.5% และมูลค่าส่งออก 10,600 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.50%


               โดยในปี 2564-2565 คาดว่าอุตสาหกรรมเนื้อหอมนี้จะเติบโตเฉลี่ย 6.5% โดยได้ปัจจัยหนุนจากปัจจัยบวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน รวมถึงจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้ส่งเสริมความต้องการอุปกรณ์เกี่ยวกับจักษุและกระดูก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ช่วยลดการมองเห็นที่บกพร่องและกระดูกสะโพกหักในประชากรสูงอายุ และที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีการลงทุนของธุรกิจโรงพยาบาลทั่วประเทศโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี แม้กระทั่งจังหวัดรองอย่างศรีสะเกษ โดยมีทั้งที่สร้างใหม่ และที่ขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติม ตลอดจนนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดใจให้นักลงทุนเทเม็ดเงินลงทุนกับกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ เช่น มาตรการยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนา และมาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเครื่องมือแพทย์ด้วย เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น  

               โดยบีโอไอ ให้ข้อมูลว่าคำขอรับการส่งเสริมจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแพทย์ตลอดปี 2563 มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน โดยมีจำนวน 83 โครงการ เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากปี 2562 ถึง 177%  ขณะที่มูลค่าลงทุนรวมมากถึง 22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 165% ขณะที่ใน 9 เดือนแรกของปี 2564 อุตสาหกรรมการแพทย์มีมูลค่าเงินลงทุน 59,210 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด เช่น ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นอย่างมากมาก นับเป็นการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์


               ขณะที่การจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (บางแสน) ก็จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์เพื่อทดสอบจีโนมจำนวนมาก ซึ่งเพิ่มการดึงดูดผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญด้านนี้ให้มาลงทุนในพื้นที่ที่อีอีซีจัดสรรไว้โดยเฉพาะ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่คุ้มค่า เช่น กิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5 – 8 ปีขึ้นไป จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 2 ปี ส่วนกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมายและกิจการสนับสนุน ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 10 ปีอยู่แล้ว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 1 ปี


               ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดในปี 2562 พบว่า เครื่องมือแพทย์ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง เช่น อุปกรณ์ทำแผล ถุงมือยางทางการแพทย์ หลอดสวนและหลอด/เข็มฉีดยา มีสัดส่วน 88.3% ของมูลค่าส่งออกเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดของไทย มีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี โดยผู้ประกอบการที่ผลิตและส่งออกส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อส่งกลับไปจำหน่ายในประเทศของตน เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ส่วนผลิตภัณฑ์นำเข้า โดยมากเป็นกลุ่มครุภัณฑ์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ 42.7% และ 40.5% ตามลำดับ เช่น ผลิตภัณฑ์ทางจักษุวิทยา เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าในสมอง เครื่องอัลตราซาวน์ เครื่องเอกซเรย์ และเครื่องตรวจวัดคลื่นหัวใจ มีแหล่งนำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี และญี่ปุ่น

สำหรับผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีจำนวนทั้งสิ้น 595 ราย  (ข้อมูลล่าสุด ณ พฤษภาคม 2563) ในจำนวนนี้เป็นเอสเอ็มอี 96.5%  มีส่วนแบ่งรายได้ 29% และเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่อีก 3.5%  มีส่วนแบ่งรายได้ 71%

จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ของบ้านเรามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุน ทั้งการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับการยกเว้น/ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล ตลอดจนการนำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และเครื่องจักร รวมทั้งนโยบายการเปิดตลาด ภาครัฐที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2558 ที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่นำผลจากการวิจัยและนวัตกรรมจากสถาบันวิจัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ ไปพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ และพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ขณะเดียวกันรัฐบาลยังได้จัดสรรพื้นที่ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EECi ราว 40,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และสนับสนุนให้ทั้งภาครัฐและมหาวิทยาลัยดำเนินการวิจัยร่วมกัน พร้อมกับขยายผลในพื้นที่ด้วย


               นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนาของไทย รวมถึงภาควิชาการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ด้วย นำโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบเครื่องมือแพทย์ครบวงจร”  เพื่อสนับสนุนและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์มาตรฐานสากล  รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็ช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการขาดดุลและการกีดกันทางการค้า ที่สำคัญยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน ด้วยองค์ความรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้วย


               นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยในช่วงปี 2564-2568 ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งยังเป็นการปกป้องและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ โดยกรอบการดำเนินการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์จากบัญชีนวัตกรรมไทยอย่างน้อย 30% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยนวัตกรรมและผลิตในประเทศ หรือสร้างรายได้และผลกระทบทางเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ด้วยการใช้กลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับจากแพทย์และประชาขน ลดการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์จากต่างประเทศ ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมทั้งยังเป็นการกระจายโอกาส และช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในการเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ตัวอย่างเช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยแห่งประเทศไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบเครื่องมือแพทย์ครบวงจร”  เพื่อสนับสนุนและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์มาตรฐานสากล

 

การที่ภาครัฐไม่ได้นิ่งดูดาย หรือไม่ได้ปล่อยให้อุตสาหกรรมนี้ถูกต่างชาติครอบงำ ด้วยการออกนโยบายและมาตรการต่าง ๆ อย่างจริงจัง จึงนับเป็นโอกาสที่สดใสของผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก


               ในแง่ของการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมนี้ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและการพัฒนาประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 ก็มีสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ถึงกับพัฒนาหลักสูตรด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เปิดรับสมัครนักศึกษาสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ หลักสูตรนานาชาติ โดยรับจำนวน 35 คน เพื่อมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือทางการแพทย์ และสร้างบุคลากร รวมถึงพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพระดับโลก


               นอกจากนี้ ภาครัฐยังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559-2563 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไปแล้วกว่า 400 ราย อาทิ การพัฒนาชุดอุปกรณ์จ่ายอากาศแบบต่อเนื่องสำหรับหน้ากากชนิดครอบเต็มใบหน้า ของบริษัท ทีเอ็มดีดี จำกัด ที่กรมฯ ได้สนับสนุนการพัฒนาวัสดุในการผลิต แบตเตอรี่ในการใช้งาน ระบบในการปรับอัตราการไหลของอากาศ และการใช้งานร่วมกับชุดกรองเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เป็นต้น โดยในปี 2564 ได้ตั้งเป้าว่าจะสามารถให้การสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ได้ราว 100 ราย

 

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ระดับโลก  Fortune Business Insights คาดว่ามูลค่าอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 657.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2571 หรือเติบโตจากปี 2564 ซึ่งมีมูลค่า 455.34  พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 5.4%  และเมื่อแบ่งตามประเภทพบว่า เครื่องมือแพทย์แผนกศัลยกรรมกระดูกมีส่วนแบ่งตลาด 7.3% ในปี 2564  ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีการประเมินว่ามีผู้สูงอายุ 303 ล้านคนทั่วโลก กำลังทุกข์ทรมานจากโรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจุบันมีผู้เล่นหลักระดับโลกที่โดดเด่น ได้แก่  Medtronic PLC, Abbott, Siemens Healthineers, Koninklijke Philips NV, Stryker Corporation, F. Hoffman-La Roche, Becton Dickinson, GE Healthcare และ Boston Scientific เป็นต้น ซึ่งหลายบริษัทก็ดำเนินธุรกิจในไทยมานาน เช่น  Abbott ที่มีผลิตภัณฑ์ดูแลผู้ป่วยโรคเบาเหวานเป็นผลิตภัณฑ์เด่น รวมถึง GE Healthcare ที่นำเสนอเทคโนโลยีและบริการทางการแพทย์ที่พลิกโฉมรูปแบบการดูแลผู้ป่วยยุคใหม่ และมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมนี้ โดย GE มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วยภาพวินิจฉัยมากกว่า 2,500 เครื่องที่ติดตั้งที่โรงพยาบาลในไทยมากกว่า 600 แห่ง และขึ้นชื่อในการเป็นผู้บุกเบิกด้านเครื่องมือแพทย์หลายอย่างในไทย อาทิ เมื่อปี 2559 ลงนามในข้อตกลงกับบำรุงราษฎร์เพื่อจัดหาเครื่อง MRI 3.0 Tesla Model เป็นครั้งแรกในไทย ต่อมาในปี 2561 ได้ประกาศข้อตกลงในการจัดหาเครื่องสแกนสไลซ์ CT-512 ของ Revolution และ MRI 3T Architect ซึ่งเป็นรายแรกในประเทศไทยอีกเช่นกัน ให้กับศิริราช เป็นต้น


               ด้านแนวทางการแข่งขันในระดับโลก ผู้เล่นหลักส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นความร่วมมือและการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขับเคลื่อนให้ตลาดเติบโตอย่างต่อเนื่อง บรรดาบริษัทใหญ่ ๆ ต่างพยายามจะรักษาตำแหน่งในตลาดของตัวเอง โดยเน้นที่การเปิดตัวนวัตกรรม  ความร่วมมือและพันธมิตรทางธุรกิจ ตลอดจนการเข้าซื้อกิจการ  เช่น เมื่อเดือนมกราคม Smith & Nephew จากอังกฤษร่วมมือกับ Movemedical จากสหรัฐฯ เพื่อขยายโซลูชันระบบอัตโนมัติของสินค้าคงคลังและปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า ส่วน Koninklijke Philips NV จากเนเธอร์แลนด์ เปิดตัวโมเดลในการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนท้องโป่งพอง (Abdominal Aortic Aneurysm: AAA) ช่วยให้แพทย์มีวิธีการรักษาที่เป็นมิตรต่อผู้ป่วยมากขึ้น เมื่อเทียบกับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วย AAA ในปัจจุบัน ที่ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ทั่วโลกมากถึง 175,000 ราย


               ขณะเดียวกันบรรดาผู้ผลิตพลาสติกโดยเฉพาะ Commodity Plastics ซึ่งเป็นพลาสติกสำหรับการใช้งานทั่วไป เช่น Polyvinyl Chloride (PVC), Polypropylene (PP) และ Polyethylene (PE) ซึ่งได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ เพราะพลาสติกประเภทนี้มักใช้ในการทำอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น ถุงบรรจุเลือด ท่อลำเลียงเลือด ถุงมือผ่าตัด เข็มฉีดยา ลิ้นหัวใจเทียม และด้ามจับไม้เท้า เป็นต้น ก็จะได้พบปะกับผู้ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อจับมือกันเป็นคู่ค้าต่อไป

 

สุดท้ายนี้ หากคุณผู้อ่านต้องการติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ตลอดจนประเด็นน่าสนใจอื่น ๆ ในโลกอุตสาหกรรม ต้องไม่พลาด ME Blogs ในครั้งต่อไปครับ


 

ที่มา:
www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/Other-Industries/Medical-Devices/IO/medical-devices
www.boi.go.th/index.php?page=press_releases_detail&topic_id=127519&language=th
www.fortunebusinessinsights.com/industry-reports/medical-devices-market-100085
www.tistr.or.th/tistr/newsboard/shownews.php?Category=newsboard&No=1812
www.thaipr.net/education/3113069