Manufacturing Expo Logo
19 - 22 มิถุนายน 2567

ส่องโอกาสและทิศทางการขับเคลื่อน "อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า" ในไทย ทำไมถึงโตไกลกว่าที่คิด

06 January 2023

  • ไทยไม่ตกขบวนเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า ปั้นอุตสาหกรรมดาวเด่นจากรากฐานที่แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์
  • ระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าที่ดี เป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จของไทย
    - แรงหนุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ดันอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยให้เฉิดฉายได้
  • บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าต่างชาติรวมถึงผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกต่างพาเหรดปักหมุดลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น Neta Group, BYD, TESLA, FOXCONN ฯลฯ บ่งบอกถึงศักยภาพของไทยในอุตสาหกรรมสุดร้อนแรงนี้

ย้อนกลับไปราว 3-4 ปีที่แล้ว ที่เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรงอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก แต่กระแสในไทยกลับไม่รุ่งอย่างที่คิด แม้จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของเอเชียมานาน เพราะยังขาดระบบนิเวศที่ดีพอที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรม EV แต่ไม่ทันไรภายในระยะเวลาไม่นาน ทุกอย่างกลับพลิกผัน เพราะจากความร่วมมืออย่างแข็งขันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไทยสามารถผ่องถ่ายและต่อยอดความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมาสู่รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างน่าประทับใจ

อัปเดตสถานการณ์การลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยล่าสุดพบว่า BYD ยักษ์ใหญ่จากจีน ลงทุนร่วมกับกลุ่มสยามกลการ ภายใต้ชื่อ BYD Thailand ด้วยเม็ดเงินมหาศาลกว่า 20,000 ล้านบาท และกำลังก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ BYD เวอร์ชันพวงมาลัยขวาในไทย ซึ่งมีกำลังผลิตราว 100,000 คันต่อปี เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปตีตลาดอาเซียนและยุโรป

ด้าน Neta Auto ยักษ์ใหญ่อีกรายจากจีนก็บุกไทยด้วยการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าซิตี้คาร์ ซึ่งจะวางจำหน่ายที่ตัวแทนจำหน่าย 30 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2565 โดยกำลังทำงานร่วมกับอรุณพลัส บริษัทในเครือปตท. เพื่อสร้างระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการสนับสนุนของภาครัฐ โดยตั้งเป้ายอดขายปีแรก 3,000 คัน และปีต่อไป 12,000 คัน

นอกจากนี้ ปตท. ยังลงทุนด้านแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างจริงจัง โดยร่วมมือกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่กึ่งแข็งแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในพื้นที่อีอีซี ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีโรงงานดังกล่าว

ขณะที่ความเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงที่สุดเห็นจะเป็นการเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการของ Tesla เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ณ โชว์รูม Tesla สยามพารากอน นำทัพโดย Tesla MODEL 3 ราคาเริ่มต้น 1.759 ล้านบาท และ Tesla MODEL Y ราคาเริ่มต้น 1.959 ล้านบาท ซึ่งจะพร้อมส่งมอบภายในไตรมาสแรก ปี 2566 ทั้งนี้ การลงทุนของ Tesla ในไทยสะท้อนถึงความมั่นใจในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราว่ามีอนาคตที่สดใส ซึ่งขณะนี้ในเอเชียแปซิฟิก Tesla เปิดตลาดแล้วใน 10 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเก๊า ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยไทยถือเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


นอกจากนี้ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการคือ หนึ่งในพื้นที่การลงทุนสำคัญของไทยอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความพร้อมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และผลักดันให้เกิดระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าที่สมบูรณ์แบบมาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดสถานีชาร์จเพิ่มขึ้น 5,000 หัวจ่าย, โรงงานผลิตแบตเตอรี่, ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และสนามทดสอบยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ  ขณะเดียวกันก็เร่งผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) การพัฒนาอู่ซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่อีอีซี ให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 30,000 คน

ไม่เพียงเท่านี้ จากการที่รัฐบาลออกนโยบาย 30@30 ตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค รัฐบาลจึงออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการด้านสิทธิประโยชน์และภาษีของรถยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี ให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อสูงสุด  70,000 บาท/คัน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ 10-30 กิโลวัตต์ และเงินอุดหนุนผู้ซื้อสูงสุด 150,000 บาท/คัน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่เกิน 30 กิโลวัตต์ ขณะที่มาตรการด้านภาษีระยะแรก (ปี 2565-2566) สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (ผลิตและจำหน่ายในประเทศ) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกินคันละ 2 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์ลดอากรขาเข้าสูงสุด 40% และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (ผลิตและจำหน่ายในประเทศ) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำเกินคันละ 2 ล้านบาท จะลดอากรขาเข้าให้สูงสุด 20% เป็นต้น

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยยังคงน่าจับตาเป็นอย่างมาก เนื่องจากกำลังเนื้อหอมสุด ๆ  เฉพาะในพื้นที่อีอีซี ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องรายอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ABB, BMW, Siemens, REMODDIS, ALBA group แสดงความสนใจพร้อมที่จะเข้าลงทุน ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเป็น 26% ภายในปี 2570

 

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยโตไกลกว่าที่คิด โดยมีผลการศึกษาของ สกพอ. ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) และทีมนักวิจัยจาก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วิเคราะห์ผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยแบบจำลอง Dynamic-Computable General Equilibrium (Dynamic CGE) เป็นครั้งแรกของไทย พบว่ามีครัวเรือนไทยบางส่วนได้ปรับเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้ ส่งผลให้การบริโภคโดยรวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 34,129 ล้านบาท (ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกของการพยากรณ์) และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2578 การบริโภคโดยรวมของครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 175,555 ล้านบาท เลยทีเดียว จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้สำเร็จในอนาคต 

จะเห็นได้ชัดเจนว่าจากนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันอย่างมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนอย่างบีโอไอและอีอีซี จึงคาดว่าจะสามารถขยายมูลค่าการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อผลักดันและต่อยอดให้ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลกได้อย่างแน่นอน ขณะที่การทำตลาดอย่างเข้มข้นของผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังจากต่างประเทศจะส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

กอปรกับการที่ประเทศไทยยังมีการจัดงาน “ออโตโมทีฟ แมนูแฟกเจอริ่ง 2023” จะยิ่งช่วยส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนให้คึกคักและกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมนี้ปรับตัวเพื่อรับมือกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าด้วย ซึ่งงานนี้จัดขึ้นภายใต้งาน "แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2023" เพื่อแสดงเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่หลากหลายและครบครันที่สุด ซึ่งจัดโดย อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์  ผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าแห่งอาเซียน สมาชิกในกลุ่มบริษัท อาร์เอ็กซ์ ผู้จัดงานแสดงสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เจ้าของงานชื่อดังมากกว่า 400 งาน ใน 22 ประเทศ


โดยงาน “ออโตโมทีฟ แมนูแฟกเจอริ่ง 2023” จะจัดขึ้นในวันที่ 21-24 มิถุนายน 2023 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา ภายใต้ธีม "The Path to Express Way of Future Automobiles" หรือ "เส้นทางสู่ยานยนต์แห่งอนาคต"

สำหรับประโยชน์และความคุ้มค่าที่ผู้เข้าร่วมงานกว่า 70,000 ราย จะได้รับจากงานนี้คือการพบปะกับผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ วัสดุ เครื่องมือเพื่อการทดสอบ และอื่น ๆ เช่น การออกแบบยานยนต์ จากกว่า 250 แบรนด์ชั้นนำที่ยกทัพมาประชันเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนวัตกรรมแห่งอนาคต ทำให้สามารถอัพเดทเทรนด์ล่าสุดและเจรจาหาคู่ค้าที่นำเสนอสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำในอุตสาหกรรมและเพื่อนร่วมวงการผ่านงานสัมมนาที่เข้มข้น ตลอดจนกิจกรรมสร้างเสริมเครือข่ายทางการค้าในงานแสดงเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่ครบครันที่สุดในอาเซียน

เพื่อไม่ให้ตกขบวนและพร้อมขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่สุดแสนจะร้อนแรง จึงไม่ควรพลาดที่จะเข้าร่วมงาน “ออโตโมทีฟ แมนูแฟกเจอริ่ง 2023”