Manufacturing Expo Logo
21 - 24 มิถุนายน 2566

ส่องความเคลื่อนไหวของโมเดลเศรษฐกิจ "บีซีจี" ในอุตสาหกรรมพลาสติก ต้องเดินหน้าสู่นวัตกรรม "พลาสติกชีวภาพ" อย่างจริงจัง

10 February 2023

  • โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีที่นำเสนอพลาสติกชีวภาพกำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมพลาสติก
  • ไทยเป็นฐานการผลิตพลาสติกชั้นนำของโลก แต่ต้องเกาะกระแสพลาสติกชีวภาพที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
  • พลาสติกชีวภาพเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะอุตสาหกรรมเด่นเช่นยานยนต์ได้หันมาใช้พลาสติกชีวภาพเป็นวัตถุดิบในการผลิตมากขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กอปรกับผู้บริโภคมีความต้องการสนับสนุนผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

โมเดลเศรษฐกิจแบบซื้อ-ผลิต-ทิ้ง กลายเป็นบรรทัดฐานของโลกเก่า เพราะทุกวันนี้ถูกแทนที่ด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) เพื่อใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และไม่สร้างมลพิษให้สิ่งแวดล้อม และนับวันโมเดลเศรษฐกิจใหม่นี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลาสติก ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายและมหันตภัยต่อสิ่งแวดล้อมโลก

แม้ในปัจจุบันเราจะเห็นการรีไซเคิลของกระดาษ พลาสติก และโลหะแล้ว แต่ตามข้อมูลของ Circularity Gap Reporting Initiative ระบุว่าเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนเพียง 8.6% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่ามากกว่า 90% ของวัสดุที่ใช้ในการผลิตเป็นของใหม่ ไม่ใช่วัสดุรีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ จึงยังมีช่องว่างอีกมากในการผลักดันในอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลาสติกให้ก้าวเข้าสู่โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ด้วยการนำเสนอพลาสติกชีวภาพ ซึ่งเป็นพลาสติกที่ผลิตจากแหล่งชีวมวลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ฟาง เศษไม้ ขี้เลื่อย ไขมันและน้ำมันจากพืช แป้งข้าวโพด และเศษอาหารต่าง ๆ เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์อุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทย วิจัยกรุงศรีรายงานว่าปี 2564-2566 ยอดขายผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี หลังเผชิญภาวะซบเซามากในปี 2563 ขณะที่ปริมาณส่งออกจะขยายตัว 2.0-3.0% ต่อปี อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลก โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ อาทิ  เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ การก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้พลาสติกรวมกันเกือบ 80% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศเลยทีเดียว

เมื่อเจาะลึกสถานการณ์อุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทย ถือว่ามีบทบาทในอุตสาหกรรมพลาสติกโลกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตพลาสติกที่สำคัญ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมนี้ราว 1.0 ล้านล้านบาท โดยโดดเด่นทั้งด้านคุณภาพและราคา จากจุดแข็งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพการผลิตค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน  

สำหรับตลาดพลาสติกชีวภาพทั่วโลกมีมูลค่า 8.14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อปี 2564 และคาดว่าจะสูงถึง 18.05 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2570 โดยมีอัตราเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ประมาณ 14%  ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว คือ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่พยายามผลิตรถยนต์ที่น้ำหนักเบาลง ขณะเดียวกันพลาสติกชีวภาพยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตรถยนต์โดยการลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวัสดุเช่น PTFE (เทฟลอน) และ Bio Polyamide ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงในฐานะฉนวนในการใช้งานแรงดันสูงและอุณหภูมิสูง ทั้งยังขึ้นรูปได้ง่ายจึงมีประโยชน์ในการผลิตเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ ปัจจัยบวกยังรวมถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ตลอดจนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาที่เพิ่มขึ้น  ขณะที่ปัจจัยหนุนอื่น ๆ คือ ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังสอดคล้องกับความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนนโยบายของภาครัฐทั่วโลกที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


ขณะที่ข้อมูลจาก Nature วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ระบุว่าในปัจจุบันมีการผลิตพลาสติกชีวภาพที่มีฐานเป็นชีวภาพ 100% ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี และถือเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคตเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เช่น การเปลี่ยนแนวทางจากการใช้ทรัพยากรฟอสซิล แนะนำแนวทางการรีไซเคิลหรือการย่อยสลายแบบใหม่ รวมถึงใช้น้ำยาและตัวทำละลายที่เป็นพิษน้อยกว่าในกระบวนการผลิตพลาสติกชีวภาพ สามารถทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรที่ดีขึ้นได้ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีกด้วย

Sustainability หรือความยั่งยืนนี้ มีเทคโนโลยี กระบวนการผลิต และวิธีคิดที่มารองรับมากมาย ด้วยเหตุนี้ งาน อินเตอร์พลาสไทยแลนด์ ในปีนี้ จึงเน้นแนวคิดการผลิตเพื่อความยั่งยืน หรือ “The Path…to Plastics Sustainability” ซึ่งผู้ร่วมงานจะได้สัมผัสและชมการสาธิตการผลิตแบบยั่งยืน พร้อมรับองค์ความรู้ใหม่ด้านนี้ได้ภายในงาน อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ผู้จัดงานขอเชิญผู้ประกอบการในวงการพลาสติกทุกท่านเข้าร่วมงานในระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 นี้ ณ ไบเทค บางนา เพื่อพบผู้แสดงเครื่องจักร เทคโนโลยี สารเคมีและวัตถุดิบกว่า 300 แบรนด์นานาชาติ

 

สำหรับผู้ที่สนใจข่าวคราวความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมพลาสติก โปรดติดตาม ME Blog อย่างต่อเนื่อง และเตรียมอัพเดทเทรนด์นวัตกรรมพลาสติกได้ในงาน “อินเตอร์พลาส ไทยแลนด์ 2023”