Manufacturing Expo Logo
21 - 24 มิถุนายน 2566

อุตสาหกรรมยานยนต์ปรับตัวอย่างไร เพื่อครองใจจากผู้สูงอายุ กลุ่มเป้าหมายหลักแห่งอนาคต 

3 มีนาคม 2566

- โลกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ประชากรกลุ่มนี้เป็นที่จับจ้องของผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์
- แบรนด์รถยนต์ต่าง ๆ พยายามนำเสนอการออกแบบและฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในแง่ของการขับขี่ปลอดภัยและใช้งานง่าย

ภายในปี 2573 มีการคาดการณ์ว่าผู้คนกว่า 21% ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากการผสมผสานระหว่างอัตราการเกิดต่ำและจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเบบี้บูมเมอร์จะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ เนื่องจากจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีสัดส่วนมากที่สุด ด้วยเหตุนี้รถยนต์ในอนาคตจึงต้องตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุให้ได้ โดยเราจะเห็นฟีเจอร์ในรถยนต์ที่เน้นเรื่องสุขภาพและการสื่อสารเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อย ๆ  

John Lenneman นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับโครงการ My Car the Doctor ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยความปลอดภัยร่วมกันระหว่าง "โตโยต้า" และศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเนแบรสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้ และไม่เกินจริงแต่อย่างใด เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่สามารถวินิจฉัยโรคภัยไข้เจ็บได้ แต่ก็สามารถบันทึกข้อมูลผ่านเซ็นเซอร์และกล้อง จากนั้นรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในรถยนต์ เพื่อส่งไปยังอุปกรณ์สวมใส่ดิจิทัลของผู้สูงอายุ คนในครอบครัว และแพทย์ประจำตัว โดยนวัตกรรมดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น และมีความสำคัญเป็นพิเศษในขณะที่โลกเดินหน้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

"เราทราบจากวงการแพทย์ว่าการตรวจพบและวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยปรับปรุงสุขภาพและการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่สัญญาณหรืออาการแสดงของโรคหลายชนิดอาจปรากฏขึ้นที่เบาะนั่งคนขับเป็นระยะเวลานานก่อนที่จะปรากฏในการทดสอบในห้องปฏิบัติการหรือที่โรงพยาบาล เช่น สัญญาณเริ่มต้นของโรคอัลไซเมอร์สามารถแสดงออกมาทางพฤติกรรมการขับขี่ เช่น ความผิดปกติในการเหยียบคันเร่ง เบรก ปัญหาการควบคุมความเร็ว หรือขับหลงทางบ่อยครั้ง”

กรณีศึกษาเกี่ยวกับการปรับตัวของบริษัทยนตรกรรมที่น่าสนใจคือ "ฟอร์ด" ที่มีรายงานว่าฝ่ายสถาปัตยกรรมยานยนต์ทำงานร่วมกับโมเดล CAD เพื่อจำลองวิธีที่ผู้คนขึ้นและลงจากรถ และกำหนดระยะห่างจากความสูงถึงพื้นหรือความกว้างขั้นบันไดที่ดีที่สุดสำหรับรถยนต์ในอนาคต แม้การพิจารณาตำแหน่งที่เหมาะสมต่าง ๆ รวมถึงที่จับนั้นเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน แต่ผู้ขับขี่วัยเก๋าจะได้รับประโยชน์มากกว่า ซึ่งจากการศึกษาดังกล่าวทำให้ฟอร์ดเปลี่ยนคันเกียร์ในรุ่น Escape และ Bronco Sport ให้เป็นแบบหมุนซึ่งใช้งานได้ง่ายกว่าเดิมแล้ว ขณะที่ฝ่ายพัฒนาประสบการณ์ด้านวิศวกรรมยานยนต์กำลังหาวิธีเพิ่มความสบายใจในการขับขี่ให้กับผู้สูงวัย ซึ่งอาจรวมถึงการเสนอตำแหน่งที่ดีกว่าในการควบคุมพวงมาลัยหรือการสั่งงานด้วยเสียงบนคลาวด์ หน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น ปุ่มใหญ่ขึ้น ตัวเลือกน้อยลง และช่องว่างระหว่างข้อมูลที่ห่างกันขึ้น เป็นต้น

ด้าน "เจนเนอรัล มอเตอร์ส" มุ่งพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์การขับขี่อย่างปลอดภัยของผู้สูงอายุมากขึ้น ด้วยความช่วยเหลือของฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าเพื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ ส่วน "ออดี้"

มีฟีเจอร์หลายอย่างที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ขับขี่สูงวัยก่อนคู่แข่งรายอื่น เช่น นำไฟหน้า matrix LED ออกสู่ตลาดในปี 2556 ใน Audi A8 และเพิ่มไฟหน้า LED matrix แบบดิจิทัลในปี 2562 ช่วยบังแสงจากรถยนต์ที่อยู่ข้างหน้าและแม้กระทั่งขยายไฟไปยังเลนถัดไประหว่างการเปลี่ยนเลน แม้ว่าทั้งสองนวัตกรรมจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนบนท้องถนน แต่ฟีเจอร์เหล่านี้ดึงดูดใจผู้ซื้อสูงอายุมากเป็นพิเศษ เพราะนำเสนอความปลอดภัยที่มีความหมายอย่างยิ่งสำหรับผู้ขับขี่ที่มีอายุมากซึ่งมักมีปัญหาการมองเห็นในตอนกลางคืน

หากคุณผู้อ่านต้องการอัพเดทข่าวคราว และประเด็นน่าสนใจอื่น ๆ เกี่ยวกับแวดวงยานยนต์ โปรดติดตาม ME Blog อย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอเชิญร่วมงาน "ออโตโมทีฟแมนูแฟกเจอริ่ง 2023" ศูนย์รวมทุกเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งการแปรรูปโลหะแผ่น การเชื่อม และการตรวจวัด ตลอดจนผู้รับช่วงการผลิตชิ้นส่วน ที่นำเสนอโดยผู้ให้บริการกว่า 250 แบรนด์จากหลายประเทศ พร้อมองค์ความรู้ต่าง ๆ แบบเจาะลึกในงานสัมมนาที่จัดขึ้น แล้วพบกันวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566  ณ ไบเทค บางนา