Manufacturing Expo Logo
21 - 24 มิถุนายน 2566

รักษ์โลกสองเด้ง! Cleantech ดาวรุ่ง เปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นพลาสติกชีวภาพ

20 มิถุนายน 2566

·       อาหารเหลือทิ้งจะไม่มีปลายทางที่หลุบฝังกลบอีกต่อไป เพราะ Cleantech จะเพิ่มมูลค่าด้วยการเปลี่ยนขยะอาหารเป็นพลาสติกชีวภาพ ทดแทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

·       ลุ้นผลการวิจัยเวอร์จิเนียเทค และ Genecis Bioindustries หากสำเร็จและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ทั่วโลก จะสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมพลาสติกไปสู่ความยั่งยืนได้

ขยะอาหารไม่เพียงแต่ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจด้วย เช่นเดียวกับพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้นจะดีแค่ไหนหากมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

น่ายินดีที่มีนวัตกรทั่วโลกโดยเฉพาะจาก Cleantech แสวงหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างในกรณีของนักวิจัยในวิทยาลัยเกษตรและวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิตแห่งเวอร์จิเนียเทคได้รับเงินช่วยเหลือ 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตพลาสติกชีวภาพ (PHA) ในราคาย่อมเยา และลดขยะพลาสติกที่เหลืออยู่ทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งเฉพาะอาหารที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวกว่า40% จบลงที่การฝังกลบในหลุมขยะ

ขณะที่ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ประมาณ 14% ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก สูญเสียไประหว่างการเก็บเกี่ยวและการขายปลีก อีกประมาณ 17% ของการผลิตอาหารทั่วโลกสูญเสียไปในครัวเรือน และบริการอาหาร  ด้าน Boston Consulting Group (BCG) รายงานว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตได้ ทั่วโลก (ประมาณ 2.5 พันล้านตัน) สูญเสียหรือสูญเปล่าในแต่ละปี โดยมักเกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตอาหาร และประมาณการว่าอาหารที่เปลี่ยนสภาพเป็นขยะนี้มีมูลค่า 230 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับทุนระยะเวลา 3 ปีนี้ที่นักวิจัยเลือดใหม่ของเวอร์จิเนียเทคได้รับนี้ จะถูกใช้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับขนาดและความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนขยะอาหารเหล่านี้ให้เป็นพลาสติกชีวภาพในระดับชาติและระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาต้นทุนในการผลิตพลาสติกชีวภาพให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ด้านกระบวนการวิจัยจะใช้จุลินทรีย์เพื่อบริโภคเศษอาหาร ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์เติบโตเป็นไขมันหรือน้ำมันชีวภาพ หลังจากที่จุลินทรีย์มีไขมันเพียงพอแล้ว เซลล์ของมันก็จะเปิดออกและปล่อยไขมันออกมา หลังจากทำให้ไขมันบริสุทธิ์แล้ว จะสามารถนำไปแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพได้

หากการวิจัยนี้สำเร็จและมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่ทำจากเศษอาหาร จะสามารถช่วยลดปริมาณการฝังกลบและค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะ ชดเชยการผลิตพลาสติกจากปิโตรเลียม รวมถึงลดมลพิษจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในที่สุด

อีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ Genecis Bioindustries บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติแคนาดาภายใต้การสนับสนุนของมหาวิทยาลัยโทรอนโต ใช้แบคทีเรียที่ได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมขั้นสูงเพื่อเปลี่ยนเศษอาหารให้เป็นโพลิเมอร์ธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ซึ่ งสามารถนำมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่เสื้อยืดไปจนถึงรองเท้าแตะ

โดยกระบวนการของ Genecis Bioindustries จะสร้างพลาสติกชีวภาพชนิดหนึ่งที่เรียกว่า PHBV (วัสดุชีวภาพที่ผลิตโดยเทคโนโลยีวิศวกรรมการหมักโดยใช้แป้งเป็นวัตถุดิบ) มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับพลาสติกที่ใช้น้ำมันแบบดั้งเดิม แต่ไม่มีต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ที่สำคัญ PHBV ยังใช้เวลาเพียง 1 เดือนในการย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมัก และใช้เวลาเพียงหนึ่งปีในการย่อยสลายในน้ำทะเล

ด้วยการระดมทุนมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  Genecis Bioindustries วางแผนที่จะเป็นบริษัทแรกในเชิงพาณิชย์สำหรับกระบวนการผลิตจากขยะอาหารสู่ PHA ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันกับพลาสติกสังเคราะห์ทั้งในด้านประสิทธิภาพและต้นทุน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะพลาสติกสังเคราะห์อาจใช้เวลาหลายศตวรรษในการย่อยสลายและสร้างมลพิษทางน้ำด้วยไมโครพลาสติก แต่ PHA ในหลุมฝังกลบสามารถย่อยสลายได้อย่างปลอดภัยทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ จึงเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

โปรดติดตาม ME Blog อย่างต่อเนื่อง เพื่ออัพเดทข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรมพลาสติก และเตรียมพบกับเทรนด์นวัตกรรมพลาสติกได้ในงาน “อินเตอร์พลาส ไทยแลนด์ 2023” โดยอาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2566 นี้ ณ ไบเทค บางนา เพื่อแสดงเทคโนโลยีที่ครอบคลุมที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการได้พบกับเครื่องจักรใหม่ล่าสุด ตลอดจนเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิลวัสดุ และอื่น ๆ อีกมากมาย จากผู้แสดงสินค้าชั้นนำกว่า 300 แบรนด์ ขณะเดียวกันยังอัดแน่นด้วยงานสัมมนาและกิจกรรมสร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยภายในงานจะเปิดพื้นที่ให้นักอุตสาหกรรมกว่า 50,000 ราย ได้ร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางการผลิตตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี และการผลิตสินค้าพลาสติกอย่างยั่งยืน