Manufacturing Expo Logo
19 - 22 มิถุนายน 2567

เปิดแผนปั้นระบบนิเวศ “หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ในพื้นที่อีอีซี

20 October 2021

20 ตุลาคม 2564

“หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ยังเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ดังนั้นการสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนี้ที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ จึงเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของการขับเคลื่อนอีอีซี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า “ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนอีอีซีประสบความสำเร็จได้ก็คือ Connected Industry โดยเราตระหนักว่า นโยบายเป็นสิ่งที่ดี แต่ปีศาจมักอยู่ในการทำงานที่เป็นรายละเอียด (The devil is in the details)  จึงต้องทำให้เป็นระบบ รอบคอบ และรัดกุม แม้จะยากแต่เราไม่ท้อถอย พยายามแก้ปัญหาในทุกรายละเอียด เพื่อสร้างกลไกการลงทุนให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงการวางแผนพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง ด้วยการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวร่วมกับภาคเอกชน โดยขอให้ภาคเอกชนเป็นผู้บริจาคอุปกรณ์การเรียนการสอนตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ  แทนที่ภาครัฐจะใช้งบประมาณมาซื้อเครื่องจักรเอง เมื่อมีปัญหาก็ไม่มีงบซ่อมแซม หรือต่อให้ได้มาก็อาจจะตกรุ่น ไม่ทันสมัย ด้วยแนวคิดดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง EEC Automation Park เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ภายใต้การดำเนินการของ EEC HDC (EEC Human Development Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลด้านการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาในพื้นที่อีอีซี เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  เสริมสร้างทักษะบุคลากร และยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยก้าวสู่ Industry 4.0 โดยร่วมมือกับบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  และ ม.บูรพา ขณะเดียวกันเรายังร่วมมือกับกรมสรรพากรออกมาตรการพิเศษให้ภาคเอกชนที่บริจาค สามารถนำไปหักภาษีได้ 2.5 เท่า”


โดยมิตซูบิชิฯ ได้นำเสนอแนวคิด e-F@ctory โซลูชั่นที่มุ่งเน้นการเชื่อมต่อของข้อมูลในทุกระดับและลดค่าใช้จ่ายในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานและสนับสนุนระบบการผลิตซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของบริษัทที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ให้กับ EEC HDC ด้วยการพัฒนากำลังคน ผ่าน  EEC Automation Park ที่เชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย  ไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” (Value–Based Economy)

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์การสร้างระบบนิเวศของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อให้บุคลากรได้รับการฝึกอบรมด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ที่จะนำไปสู่โรงงาน 4.0 ที่ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากว่า ด้วยการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างน้อย 30%  โดยที่ศูนย์แห่งนี้มีหุ่นยนต์และเครื่องจักรหลายชิ้นเพิ่งเปิดตัวที่ญี่ปุ่นสดๆ ร้อนๆ  ถูกนำมาติดตั้งเพื่อเป็นชุดสาธิตการผลิต 4.0 

“เรากำลังใช้ EEC Automation Park เป็นศูนย์กลางสำคัญในการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้เกิดขึ้นจริงในภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องการทำ Digital Transformation ได้ใช้เทคโนโลยีนี้อย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมถึงบรรดาสถานศึกษาต่างๆ จะได้พัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของอุตสาหกรรมด้วย” 

นอกจากนี้ ด้วยความที่ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาอย่างยาวนานทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม อีอีซีจึงทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่น ทั้งกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) อย่างใกล้ชิด  โดยภาคเอกชนจะนำทั้งไอโอที หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มาใช้ในการผลิตเพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตใหม่ของโลก  ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น เพราะมีความเที่ยงตรงและแม่นยำกว่าเดิม ทั้งยังลดการทำงานของแรงงานคน และลดอัตราการเสื่อมของเครื่องจักรได้มากถึง 131 ชั่วโมงต่อเดือน

“โดยหลักแล้วเราทำงานกับนักลงทุนญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดด้วยความเคารพนับถือกันและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมามาโดยตลอด เพราะญี่ปุ่นช่วยเราสร้างอีสเทิร์นซีบอร์ดมา และทุกวันนี้ก็ยังเป็นพันธมิตรรายใหญ่ของเราอยู่”

ในส่วนของ JETRO ได้เปิดเว็บไซต์พิเศษ เพื่อแนะนำบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยเฉพาะ รวมทั้งได้ผนึกกำลังกับอีอีซีจัดสัมมนาและประชุมออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนให้เกิดขึ้นจริง


หากภารกิจปั้นระบบนิเวศหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติประสบความสำเร็จ คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้านับจากนี้ จะมีการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสูงถึง 500,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี และในปี 2565 ตั้งเป้าให้โรงงานในพื้นที่อีอีซีไม่น้อยกว่า 200 แห่ง นำเทคโนโลยีไปใช้ ขณะที่ภายใน 5 ปี จะสามารถเปลี่ยนผ่านสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน

จากรายงานหุ่นยนต์โลก 2564 (World Robotics Report 2020) ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 13 ของโลกสำหรับการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในปี 2562 ด้วยจำนวนมากกว่า 2,900 ยูนิต นอกเหนือจากความต้องการหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศที่มีความต้องการสูงแล้ว ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคตของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เนื่องจากเป็นผู้ส่งออกเครื่องจักรและชิ้นส่วนแขนกลหุ่นยนต์รายใหญ่อันดับที่ 14 ของโลก โดยมูลค่าการส่งออกของตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 คิดเป็นอัตราการเติบโต 3% ต่อปี ในระหว่างปี 2558-2562 และครองส่วนแบ่งตลาดโลก 1.8%  นอกจากนี้ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และอัตโนมัติของประเทศไทยยังดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 3.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2563 และมีการลงทุนสูงถึง 26.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562

ในภาพรวม ข้อมูลจาก Mordor Intelligence  ระบุว่า ตลาดหุ่นยนต์ทั่วโลกมีมูลค่า 27.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และคาดว่าจะเพิ่มสูงถึง 74.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2569 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 17.45% ในช่วงปี 2564-2569 จากปัจจัยด้านการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ต่างๆ เช่น หุ่นยนต์บริการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยคาดว่าการเติบโตของหุ่นยนต์ส่งอาหารและยาทั่วโลกจะเห็นได้ชัดเจนในปี 2564 ซึ่งความต้องการนี้จะผลักดันความต้องการหุ่นยนต์ที่รองรับ Last-mile Deliver (รูปแบบการขนส่งสินค้าจากร้านค้าเพื่อส่งถึงที่อยู่ปลายทางลูกค้าโดยตรง) ด้วย

 

ขณะที่รายงาน World Robotics จาก International Federation of Robotics (IFR) ระบุว่าการลงทุนในการผลิตรถยนต์ยุคใหม่และการปรับปรุงโรงงานอุตสาหกรรมให้ทันสมัย ได้กระตุ้นความต้องการหุ่นยนต์ทั่วโลกให้เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยต่างๆ เช่น การพัฒนาระบบขับเคลื่อนยานยนต์แบบประหยัดพลังงาน ตลอดจนการแข่งขันในตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนข้ามชาติในด้านนี้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสำคัญๆ ทั่วโลก

 

ทัั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นหนึ่งในการใช้งานที่สำคัญที่สุดของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เนื่องจากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมากในหุ่นยนต์อุตสาหกรรมทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ที่ผ่านมา BMW AG ได้ลงนามในข้อตกลงกับ KUKA เพื่อจัดหาหุ่นยนต์กว่า 5,000 ตัว ที่ใช้ในสายการผลิตและโรงงานแห่งใหม่ของค่ายใบพัดสีฟ้าทั่วโลก

หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ยังมีเรื่องที่ต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง หากคุณผู้อ่านต้องการติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ตลอดจนความเคลื่อนไหวและประเด็นน่าสนใจอื่น ๆ ในโลกอุตสาหกรรม ต้องไม่พลาด Manufacturing Expo Blogs ในครั้งต่อไปครับ

IMPORTANT NOTE!

“Manufacturing Expo” is open to trade visitors only. Please dress in business attire. Those wearing shorts and/or sandals and minors under the age of 15 will not be permitted into the exhibition hall. The organizer reserves the right to refuse admission to anyone without cause or explanation.